ข่าวประชาสัมพันธ์
17 หน่วยงานร่วมแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของโครงการ Thailand Synthetic Biology Consortium
เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์เครือข่ายแรกในประเทศไทย
สถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ “Thailand Synthetic Biology Consortium” เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล
การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) ในประเทศไทย
โดยในวันนี้ ได้มีการจัดพิธีแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตร 17 หน่วยงาน เป็นการรวบรวมองค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย ได้แก่
- สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
- สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (III)
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- สถาบันวิทยสิริเมธี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
- บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาขน)
- บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน).
- บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ไบโอ บัดดี้ จำกัด
- บริษัท เทสท์บัด จำกัด
ภายในงาน ช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก ดร.อะจิคุมาร์ พารายิล CEOและผู้ก่อตั้ง Manus Bio Inc. บริษัทผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงของสหรัฐอเมริกา ได้แชร์มุมมองและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในระดับโลก ว่าเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์สามารถร่นระยะเวลาและเพิ่มปริมาณการผลิตชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร ยา และ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ได้ปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาสั้นลง นอกจากนั้นการใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการผลิตยังสามารถช่วยในเรื่องของการกระจายตัวของแหล่งผลิตวัตถุดิบ ทำให้สามารถผลิตชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ได้จากทุกที่บนโลก ที่สำคัญ การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
จากนั้น ดร.คอสทัส วาวิสทัส ผู้จัดการเครือข่าย SINERGY เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ ประเทศสิงคโปร์ ได้พูดถึงการเป็น Global Bioeconomy Hub (ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ) ของประเทศสิงคโปร์ว่า ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์สามารถขับเคลื่อนวงการ Synthetic Biology นั้น มาจากความร่วมมือแบบ Public-Private Partnership ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกของกระบวนการทำงาน ส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน โดยภาคเอกชนนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจและเข้าใจความต้องการของตลาด ส่วนภาครัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องของการค้นคว้า วิจัย จัดตั้งbio-foundry อำนวยความสะดวกในส่วนของทรัพยากร นโยบาย ไปจนถึงการสนับสนุนเงินลงทุน
นอกจากนั้นเครือข่ายฯ ยังได้รับเกียรติจาก นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ
โดย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้กล่าวบรรยายผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ SynBio Ecosystem Development Roadmap ซึ่งแผนที่นำทางที่จัดทำขึ้นเพื่อเป้าหมายร่วมในการพัฒนาขับเคลื่อน Synthetic Biology รวมถึงนวัตกรรม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยแผนที่นำทางนี้มีผู้ร่วมให้ความเห็นทั้งในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) บริษัทสตาร์ทอัพ บริษัทขนาดใหญ่ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย โดยพบว่าสำหรับประเทศไทย SynBio ยังมีโอกาสในการพัฒนาไปได้อีกมาก ส่วนสำคัญคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี ที่เป็นวาระสำคัญของประเทศไทย
ในส่วนของแผนที่นำทาง ทำขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการทำงานร่วมกัน และมองเป้าหมายไปถึงปี 2030 โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในช่วงแรก (1-3 ปี) คือการสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) การมีแพลตฟอร์มความร่วมมือ (Collaboration Platform) รวมถึงพยายามแสดงให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ ในระยะกลาง (3-5 ปี) มองถึงการยกระดับโอกาสในการผลิตและมาตรฐานการผลิต ส่วนในระยะยาว (5 ปีขึ้นไป) คาดหวังว่าจะสร้าง Deep Tech Startup หรือ Deep Tech Enterprise ขึ้นมา เพื่อในอนาคตจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตร จึงมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ซึ่งสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน